เปลี่ยนแบคทีเรียในตัวปลวกให้เป็นขุมทองในยุคน้ำมันแพง

คณะนักวิจัยกลุ่มเล็กๆ บนชั้น 6 อาคารวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี กำลังเปลี่ยนแบคทีเรียในตัวปลวกให้เป็นขุมทองในยุคน้ำมันแพง


คณะนักวิจัยกลุ่มเล็กๆ บนชั้น 6 อาคารวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจอุปกรณ์เครื่องปั่น ที่กำลังทำงานแยกแบคทีเรียออกจากตัวปลวก พร้อมๆ กับความคาดหวังที่จะเปลี่ยนปลวกให้เป็นขุมทองในยุคน้ำมันแพง เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้คือแหล่งพลังงานทางเลือกในอนาคต
 

"ปลวกกินน้ำตาลที่ย่อยได้จากไม้เป็นอาหาร เราก็นำธรรมชาติตรงนี้มาใช้ประโยชน์ โดยสกัดดึงเอาเฉพาะแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารของปลวกออกมาเพาะเลี้ยงเพื่อ เพิ่มจำนวน จากนั้นก็นำไปใช้ย่อยวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรอย่าง กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว ได้ผลผลิตออกมาเป็นน้ำตาล ซึ่งสามารถนำไปผลิตเอทานอลโดยใช้เทคโนโลยีทั่วไปที่มีอยู่แล้ว" ศ.สุเมธ ชวเดช สรุปง่ายๆ ถึงที่มาของพลังงานทดแทนจากปลวก
 

อาจจะง่ายในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วโครงการวิจัยนี้ยังไม่บรรลุผล 100% อย่างที่คณะนักวิจัยคาดหวัง แม้จะดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปีแรกที่เก็บปลวกบ้านมาสกัดหาแบคทีเรียจอมเขมือบ แต่ก็ล้มเหลวเพราะในปลวกบ้านไม่มีแบคทีเรียเป้าหมาย
 

ทีมงานพยายามเสาะแสวงหาปลวกที่มีคุณสมบัติตามต้องการ กระทั่งพบในปลวกป่าซึ่งนำมาจากสวนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม หลังจากคัดแยกสายพันธุ์แบคทีเรียตัวเด่นจากกว่า 30 สายพันธุ์ที่ได้จากตัวปลวก ออกมาทดสอบพบว่า สามารถย่อยเซลลูโลสซึ่งเป็นโครงสร้างหนึ่งในเนื้อไม้ได้สูงถึง 70% ในเวลา 12 ชั่งโมง
 

ปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังหาทางเพิ่มขีดความสามารถให้กับแบคทีเรียในการย่อยเส้นใยไม้ แนวทางหนึ่งคือการตัดต่อพันธุกรรมโดยนำยีนเด่นของแบคทีเรียจากปลวกป่าที่คัด เลือกไว้มาใส่ในแบคทีเรียอีโคไล ทำให้แบคทีเรียที่ได้มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยเส้นใยของเนื้อไม้มากกว่าเดิมอีก 18 เท่า และง่ายต่อการเพาะเลี้ยงขยายจำนวน
การทำการตัดต่อพันธุกรรมนี้ จะต้องส่งนิสิตปริญญาเอกเดินทางไปใช้แล็บที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยฯ ส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าอาจารย์ที่ปรึกษาได้มหาศาล


ศ.สุเมธ กล่าวว่า 3 ปีแรกของโครงการวิจัยนี้ได้รับทุน 3 ล้านบาทจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งสนับสนุนให้กับการทำวิจัยเพื่ออนาคต ส่วนอีก 3 ปีต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่มองว่าเป็นโครงการในความสนใจและเป็นประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีของเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่าง ซังข้าวโพด ชานอ้อย
 

แม้ว่าความเป็นไปได้ที่ปลวกกำลังเป็นขุมทองในยุคน้ำมันแพงได้ผ่านขั้นตอนการ วิจัยเบื้องต้นไปแล้ว แต่หนทางแห่งความสำเร็จยังทอดอีกยาวไกล กว่าจะสามารถใช้ในระดับอุตสาหกรรมอย่างมีความหวังในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การทำให้แบคทีเรียย่อยชีวมวลได้อย่างน้อย 80% เพื่อความคุ้มทุน